ความสำคัญของเศรษฐศาสตร์

ความสำคัญของวิชาเศรษฐศาสตร์

เศรษฐศาสตร์ เป็นการศึกษาวิธีที่จะนำเอาทรัพยากรต่าง ๆ อันมีอยู่อย่างจำกัดไปทำการผลิตสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคอันมีอยู่อย่างมากมายและไม่จำกัดในฐานะที่มนุษย์มีบทบาทเป็นทั้งผู้บริโภคและผู้ผลิต ในฐานะผู้บริโภคจะมีความต้องการสินค้าที่สามารถสนองความพอใจได้สูงสุด ในฐานะผู้ผลิตจะต้องใช้ความรู้ความสามารถจัดการกับปัจจัยการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่คน นอกจากนั้น คนทุกคนต้องมีส่วนในการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองและของประเทศ ซึ่งสามารถนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ไปช่วยในการตัดสินใจกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมีกฎเกณฑ์ ช่วยให้เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจของบ้านเมือง เข้าใจนโยบายของรัฐบาล เช่น นโยบายการลงทุน การแก้ไขภาวะการเงิน การช่วยเหลือสินค้าเกษตร เป็นต้น หากประชาชนมีความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ จะมีส่วนช่วยให้กิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้บรรลุผล เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี มีคุณภาพชีวิต (Quality ofLife)ที่ดีขึ้นทั้งปัจจุบันและอนาคตดังนั้น วิชาเศรษฐศาสตร์จึงมีความสำคัญดังเหตุผลต่อไปนี้

1. ทรัพยากรธรรมชาติมีอยู่อย่างจำกัด จึงจำเป็นต้องศึกษาเพื่อดำเนินการผลิตสินค้าและบริการรวมทั้งการจัดจำหน่ายไปยังบุคคลต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจ การเรียนรู้วิชาเศรษฐศาสตร์ จะช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจหลักการทำงานของระบบเศรษฐกิจได้ดี เข้าใจบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

3. เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ภาวะเงินตึง ภาวะเงินฝืด ภาวะเงินเฟ้อ ดุลการค้า ดุลการชำระเงิน การผูกขาด การว่างงาน เป็นต้น เพื่อให้เศรษฐกิจมีความก้าวหน้า

ประโยชน์ของวิชาเศรษฐศาสตร์

1. ประโยชน์ที่เกิดกับผู้ศึกษาโดยตรง

ผู้ศึกษาจะเข้าใจหลักทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เข้าใจภาวะเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี สามารถดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างมีหลักเกณฑ์

2. ประโยชน์ในฐานะผู้บริโภค

ทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกบริโภคสินค้าและบริการที่ ตนได้รับความพอใจสูงสุดภายใต้ระดับรายได้

ที่มีอยู่ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดคุ้มค่าและเกิดประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ตลอดจนรู้จักการออม แสวงหารายได้ และรายจ่ายอย่างคุ้มค่า

3. ประโยชน์ในฐานะผู้ผลิต

ทำให้ผู้ผลิตตัดสินใจเลือกใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดไปในการผลิตสินค้า และบริการอย่างคุ้มค่า ประหยัด ช่วยลดต้นทุนการผลิต ทำให้ธุรกิจได้รับกำไรเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ช่วยให้ผู้ผลิตเข้าใจ การเปลี่ยนแปลงของสภาวะทางเศรษฐกิจ และปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์การที่เกิดขึ้น สามารถตัดสินใจเลือก ลงทุนหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ

4. ประโยชน์ในฐานะรัฐบาล

ทำให้ผู้บริหารเข้าใจลักษณะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศ สามารถวิเคราะห์ถึงสาเหตุของปัญหาทางเศรษฐกิจและหาแนวทางแก้ไข โดยกำหนดออกมาเป็นแผนและนโยบายทางเศรษฐกิจที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

5. ประโยชน์ในฐานะพลเมืองของประเทศ

ทำให้เข้าใจปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง เข้าใจบทบาท และการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อจะได้ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้