วิธีการค้นหาความจริง

ขั้นตอนที่ 1

1. การกำหนดหัวเรื่องที่ต้องการจะศึกษา

การกำหนดหัวเรื่องอาจเกี่ยวกับเหตุการณ์ ความเจริญ ความเสื่อมของอาณาจักร ตัวบุคคลในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง อาจยาวหรือสั้นตามความเหมาะสม ซึ่งผู้ศึกษาเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ และยังมีหลักฐานข้อมูลที่ผู้ต้องการศึกษาหลงเหลืออยู่ หัวข้อเรื่องอาจปรับให้มีความเหมาะสมหรือเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากหลักฐานที่ใช้ในการศึกษามีน้อยหรือไม่น่าเชื่อถือ

ขั้นตอนที่ 2

2.การรวบรวมหลักฐาน

การรวบรวมหลักฐาน คือ การรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อที่จะศึกษา ซึ่งมีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

หลักฐานทางประวัติศาสตร์แบ่งออกเป็นหลักฐานชั้นต้นหรือหลักฐานปฐมภูมิกับหลักฐานชั้นรองหรือหลักฐานทุติยภูมิ

การค้นคว้าเรื่องราวในประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้หลักฐานรอบด้าน โดยเฉพาะหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะศึกษา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะใช้หลักฐานประเภทใดควรใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะหลักฐานทุกประเภทมีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกัน

ขั้นตอนที่ 3

3.การประเมินคุณค่าของหลักฐาน

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ค้นคว้ามาได้ ก่อนที่จะทำการศึกษาจะต้องมีกาีรประเมินคุณค่าว่าเป็นหลักฐานที่แท้จริง เพียงใด การประเมินคุณค่าของหลักฐานนี้เรียกว่า “วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์” ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี ดังต่อไปนี้

1) การประเมินคุณค่าภายนอกหรือวิพากษ์วิธีภายนอก

2) การประเมินคุณค่าภายในหรือวิพากษ์วิธีภายใน

วิพากษ์วิธีภายในยังสังเกตได้จากการกล่าวถึงตัวบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ ถ้อยคำ เป็นต้น ในหลักฐษนว่ามีความถูกต้องในสมัยนั้นๆ หรือไม่ ถ้าหากไม่ถูกต้องก็ควรสงสัยว่าเป็นหลักฐานปลอมแปลง หลักฐานที่แท้จริงเท่านั้นที่มีคุณค่าในทางประวัติศาสตร์ ส่วนหลักฐานปลอมแปลงไม่มีคุณค่าใดๆ อีกทั้งจะทำให้เกิดความรู้ที่ไม่ถูกด้วย ดังนั้น การประเมินคุณค่าของหลักฐานจึงมีความสำคัญและจำเป็นมาก

ขั้นตอนที่ 4

4.การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และจัดหมวดหมู่ข้อมูล

เมื่อทราบว่าหลักฐานนั้นเป็นของแท้ ให้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือความจริงในประวัติศาสตร์ ผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ก็จะต้องศึกษาข้อมูลหรือข้อสนเทศในหลักฐานนั้นว่าให้ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์อะไรบ้าง ข้อมูลนั้นมีความสมบูรณ์เพียงใด หรือข้อมูลนั้นมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้นอย่างไร มีจุดมุ่งหมายแอบแฝงหรือไม่ ข้อมูลมีความยุติธรรมหรือไม่ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหลายมาจัดหมวดหมู่ เช่น ความเป็นมาของเหตุการณ์ สาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ความเป็นไปของเหตุการณ์ ผลของเหตุการณ์ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 5

5.การเรียบเรียงและการนำเสนอ

การเรียบเรียงหรือการนำเสนอจัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยผู้ศึกษาประวัติศาสตร์จะต้องนำข้อมูลทั้งหมดมารวบรวมและเรียบเรียงหรือนำ เสนอให้ตรงกับประเด็นหรือหัวเรื่องที่ตนเองสงสัย ต้องการอยากรู้เพิ่มเติม ทั้งจากความรู้เดิมและความรู้ใหม่ รวมไปถึงความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรื้อฟื้นหรือจำลองเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ อย่างถูกต้องและเป็นกลาง